Margin of Safety หรือ MOS คืออะไร ?
to distill the secret to sound investment into three word, we venture the motto “MARGIN OF SAFETY”
เบนจามิน เกรแฮม “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ได้เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสรุปแนวทางการลงทุนให้เหลือแค่ 3 คำ ก็ต้องเป็น “MARGIN OF SAFETY”
Margin of Safety หรือ MOS คือ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น มักหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุน และก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อหุ้นหนึ่งตัว เพื่อการลงทุนระยะยาว เราต้องคำนวณหา MARGIN OF SAFETY และวิเคราะห์บริษัท หรือ ปัจจัยด้านพื้นฐานมาบ้างแล้ว โดยเข้าซื้อในจุดที่มีความปลอดภัย เสี่ยงต่ำกว่านักลงทุนคนอื่น
ทำไมต้องมี Margin of Safety ?
จากที่เราได้กล่าวไปตอนต้นว่า หากลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาวนั้น ก็ต้องรับมือกับปัจจัยต่างๆ จะเข้ามากระทบตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ตัวธุรกิจที่เราเข้าไปลงทุนเอง เหล่านี้ล้วนมีผลต่อราคาหุ้น นี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถคำนวณราคาหุ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอนว่าราคาในอนาคตของหุ้นตัวนี้จะอยู่ที่เท่าไร
ราคาหุ้นในการลงทุนนั้นจะประกอบไปด้วย 2 ราคา คือ ราคาตลาด (Market Price) ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่เราเห็นในกระดาน และ ราคามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) คือ ราคาที่ควรจะเป็น
และการคำนวณส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยMargin of Safety จะทำให้เราซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาที่เราจะซื้อในตอนแรก เหมาะกับนักลงทุนสาย VI ที่จะไม่ซื้อหุ้นที่ราคา Overvalue ที่ราคาตลาดอยู่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง การเข้าซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากนั้นคือเราจะใช้เครื่องมืออะไรมาคำนวณหาราคามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value)
คำนวณหาราคามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ด้วย P/E Ratio
สูตรการคำนวณ P/E Ratio เป็นอีกหนึ่งตัวที่นิยมใช้ในการหามูลค่าที่แท้จริงของดัชนีตลาดหุ้นไทยและหุ้นรายตัว หลายๆ คนอาจจะพอเข้าใจแล้วเคยลองคำนวณด้วยสูตร P/E Ratio มากันบ้างแล้ว!! เราจะมายกตัวอย่างหามูลค่าที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย…ว่าไปต่อได้หรือไม่!? และดัชนีที่สิ้นปี 2563 ควรจะเป็นเท่าไร ? ไปคำนวณกันเลย
สมการประกอบไปด้วย…
Price (P) = ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นไทย
Earning per Share (EPS) = กำไรต่อหุ้นของหุ้นรายตัวหรือดัชนีตลาดหุ้นไทย
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บัวหลวง ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนี SET Index จะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากหยุดชะงักไปในระยะสั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา จะหนุนให้ตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ไปจนถึงปี 2564
โดยมองเป้าหมายของ SET Index สิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,453.51 จุด บนสมมุติฐานค่า PE ที่ 17.5 เท่า และ EPS อยู่ที่ 87 บาท เราจะสามารถคำนวณราคามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ได้ดังนี้…
PE = ราคาหุ้น (P) / กำไรต่อหุ้น (EPS)
17.5 = ราคาหุ้น (P) / 87
กลับข้างสมการ เพื่อหาคำตอบ…
P = 17.5 X 87
P = 1,522 จุด
ในกรณี Bear Case มองเป้าหมาย SET Index สิ้นปีนี้ ในมุมมองพื้นฐานของอยู่ที่ราวๆ 1,454 จุด ซึ่งคิดเป็นส่วนลดที่ 4.5% จากเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2564 จาก 1,522 จุด (ที่มา : บทวิเคราะห์กลยุทธ์ตามปัจจัยพื้นฐาน Thai Market Strategy วันที่ 15 มิ.ย. 63)
ซึ่งสูตรการคำนวณ P/E Ratio ยังคงเป็นที่นิยมในการใช้สำหรับการคำนวณหาราคาที่แท้จริง เพื่อเป็นการบอกว่าถ้าเราเลือกที่จะลงทุน ณ ราคาตลาดตอนนี้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับราคาที่แท้จริงแล้ว คุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่!!