เฟด (Fed) คือใคร? มีบทบาทสำคัญอย่างไร?

อ่าน 628


ฉบับย่อ

FED นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต การที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดทำให้ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจของทุกประเทศจะสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม


เฟด (Fed) คือใคร?

Fed คือ ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve (System) หรือ Fed) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1913 ด้วยการตรารัฐบัญญัติธนาคารกลาง หลังเกิดวิกฤตการเงินขึ้นหลายครั้ง (โดยเฉพาะวิกฤตการเงินปี 1907) ทำให้มีความต้องการในการควบคุมจากส่วนกลาง  ในเรื่องของระบบการเงินเพื่อบรรเทาวิกฤตการเงิน จากเหตุการณ์ต่อๆ มาอย่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษ 1930 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษ 2000 นำสู่การขยายบทบาทและความรับผิดชอบของระบบธนาคารกลาง โดยที่รัฐสภาสหรัฐตั้งวัตถุประสงค์สำคัญสามข้อสำหรับนโยบายการเงินในรัฐบัญญัติธนาคารกลาง ได้แก่ การเพิ่มการจ้างงานให้สูงสุด การรักษาเสถียรภาพราคา และข้อสุดท้ายคือ การรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  วัตถุประสงค์ในสองข้อแรกบางครั้งเรียกว่า อาณัติคู่ของธนาคารกลาง 



บทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ

The Federal Reserve (FED) หรือธนาคารกลางสหรัฐนั้น มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน เนื่องจากการตัดสินใจของ FED จะเป็นการกำหนดถึงทิศทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


FED มีความสำคัญอย่างไร

FED นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราคิดลด (Discount rates) และการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าทิศทางในอนาคตและนโยบายของ FED จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ การคาดเดาจากการสื่อสารของ FED ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ FED นั้นคือการกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ มีการจ้างงานเต็มที่ และอัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ FED จะใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อ หรือมีอัตราว่างงานที่สูงจนเกินไป โดย 1 ในเครื่องมือหลักที่คนให้ความสนใจคือการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ FED ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เครื่องมือในการกำหนดนโยบายการเงินของ FED

-The Federal-Funds Rate อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ คือนโยบายที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด ซึ่งใช้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณหรือบอกถึงทิศทางนโยบายการเงิน

-Asset Purchases คือการเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงิน เช่น Mortgage-backed securities หรือ Longer-duration Treasuries เพื่อกดให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดลดต่ำลง

-Forward Guidance การแนะนำหรือสื่อต่อสารธารณะชนเพื่อสร้างความคาดหวังต่อแนวทางนโยบายและทิศทาง

-Reserve Requirements การกำหนดอัตราเงินสดสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง FED กำหนดไว้ที่ 0%


โครงสร้างของ FED

ธนาคารกลางสหรัฐถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภา ประกอบไปด้วย 3 หน่วยงานหลักคือ Federal Reserve banks, Board of governors และ Federal Open Market Committee ซึ่งนักลงทุนมักจะให้ความสนใจต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC เนื่องจากเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการกำหนดและตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และปริมาณการซื้อสินทรัพย์ FOMC จะมีการประชุมเป็นประจำและแถลงผลการประชุมและการคาดการณ์เศรษฐกิจต่อประชาชน ทั้งนี้ FOMC มีสมาชิก 12 คนที่ได้รับการโหวต สมาชิกเหล่านี้มาจากบอร์ดของผู้ว่าการ 7 คน และอีก 5 คน เป็นประธานของธนาคารกลาง



การกำหนดอัตราเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงาน

FED กำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไว้ที่ 2% ซึ่ง FED อาจปล่อยให้ในบางช่วงอัตราเงินเฟ้อเกิน 2% ได้ก่อนที่จะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมให้อัตราเงินเฟ้อปรับลงมาอยู่ที่ 2% ขณะที่อัตราการว่างงานระยะยาวกำหนดอยู่ที่ 4%


การดำเนินนโยบายของ FED

ในภาวะที่เกิด Supply shock เช่น ขาดแคลนน้ำมัน หรือภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิค FED อาจต้องเลือกว่าจะพยายามรักษาระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพื่อมาชดเชยความต้องการผ่านการผ่อนปรนหรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

Quantitative easing หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ คือการที่ FED เข้าซื้อสินทรัพย์ในระบบการเงิน เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งการทำ QE นั้นไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือซื้อ Mortgage-backed securities จากสถาบันการเงิน เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในระบบลง

อย่างไรก็ตามในมุมของนักลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องรู้ถึงรายละเอียดการดำเนินนโยบายการเงินของ FED แต่ควรรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือการอัดฉีดเงินเข้าระบบนั้นจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร


ทำไมนโยบาย Fed ส่งผลกระทบทั่วโลก

ถึงแม้จะบอกว่า Fed หรือ Federal Reserve System คือ ธนาคารกลาง (Central Bank) ของสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่พื้นฐานทั่วไปไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางของประเทศอื่นทั่วโลก

แต่ Fed คือ ธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกและมีอำนาจต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดในปัจจุบัน การที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดทำให้ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจของทุกประเทศจะสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตัวอย่างเช่น

- ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก (ได้รับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ)

- นำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา (ต้องจ่ายเงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ)

- เงินลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในบางประเทศ มาจากเงินลงทุนที่เคลื่อนย้ายจากตลาดทุนของสหรัฐฯ

จากตัวอย่าง ถ้าหาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) จนเงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศจนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ส่งออกที่ต้องส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาอย่างไทยจะได้รับผลกระทบในทางลบ ในขณะที่เงินลงทุนที่ไหลออกมาจากสหรัฐฯ จากการที่ดอกเบี้ยลดลงก็อาจจะเข้าไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)




นอกจากนี้ การที่ Fed ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือการทำ QE ที่เป็นการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกับการลงทุนทั่วโลก เพราะเงินดังกล่าวถูกอัดฉีดเข้ามาผ่านการเข้าซื้อพันธบัตร ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวจะเข้าไปหาสินทรัพย์ทางการเงินก่อนที่จะลงไปสู้เศรษฐกิจจริง (Real Sector)

เฟด    FED    ธนาคารกลางสหรัฐ    เศรษฐกิจ    อัตราดอกเบี้ย    เงินเฟ้อ   
อ้างอิง