QE คำคุ้นเคย แล้วมันคืออะไร มีผลกับเทรดเดอร์อย่างไร?

อ่าน 297


ฉบับย่อ

การทำ QE ของธนาคารกลางเป็นมาตรการที่ไม่ปกตินัก และส่งผลกระทบกับระบบการเงินทั่วโลก คราวนี้เราก็ได้มาดูกันแล้วว่า QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร มีกลไกการทำงานอย่างไร และเราควรเตรียมรับมือกับ QE ระลอกใหม่ที่คาดว่าจะใหญ่กว่าเดิมนี้อย่างไร อนาคตของระบบการเงินท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 เป็นความท้าทายที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดเดาผลลัพธ์ไม่ออก แต่การได้รับข้อมูลที่รอบด้านจะทำให้นักลงทุนสามารถพาพอร์ตให้รอดไปได้ พร้อมทำกำไรแม้ในภาวะวิกฤต ที่แน่นอนว่าคราวนี้ก็ต้องมีโอกาสแฝงอยู่เช่นกัน


QE คำคุ้นเคย แล้วมันคืออะไร มีผลกับเทรดเดอร์อย่างไร?

 

ทุกสำนักเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 จะนำมาซึ่งวิกฤต และทุกวิกฤตจะมีธนาคารกลางของแต่ละประเทศขี่ม้าขาวเข้ามากอบกู้และรักษาเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้ โดยมีอาวุธเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างการแทรกแซงอัตราดอกเบี้ย การชี้นำตลาด หรือ การเข้าซื้อ-ขายพันธบัตรรัฐบาล แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเงินในปัจจุบันรวมถึงวิกฤตการเงินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการเดิม ๆ เริ่มใช้ไม่ได้ผลทำให้เกิดเครื่องมือใหม่เข้ามาแทนที่ และเครื่องมือที่เป็นที่กล่าวขวัญที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมาก็คงหนีไม่พ้น ‘มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ’ หรือที่พูดกันติดปากว่า QE - Quantitative Easing ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไปทั่วโลก แต่มาตรการนี้ก็ยังคงทิ้งคำถามคาใจนักลงทุนหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร? QE ทำงานอย่างไร? หรือแม้แต่การนำ QE มาใช้ส่งผลกระทบอะไรตามมาบ้าง? และคำถามสำคัญคือนักลงทุนจะรับมือกันอย่างไร? เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะมาพูดคุยและหาคำตอบกัน


QE คืออะไร? มีกลไกการทำงานอย่างไร?

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) คือมาตรการทางการเงินแบบพิเศษที่ธนาคารกลางทำการเพิ่มปริมาณเงินหรือสภาพคล่อง (Liquidity) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อตราสารทางการเงินระยะยาวเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบและกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ

 

การทำ QE ของธนาคารกลางจะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ

1) การเข้าซื้อสินทรัพย์จากธนาคารและวานิชธนกิจโดยตรงเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน ทำให้ธนาคารและวาณิชธนกิจไม่ต้องถือสินทรัพย์แต่มีเงินสดเพื่อขยายสินเชื่อให้คนไปลงทุนหมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้การเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะยาวเป็นจำนวนมากจะกดผลตอบแทนรวมถึงอัตราดอกเบี้ยลง เป็นผลให้ต้นทุนในการกู้ยืม (Cost of borrowing) ลดลง ฝั่งธุรกิจและผู้ประกอบการก็มีแรงจูงใจที่จะกู้เงินไปลงทุนมากขึ้น

 

2) ธนาคารกลางจะนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ในตลาดที่ต้องการดูแลโดยเฉพาะ เช่น การเข้าซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage-Backed Security-MBS) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในตลาด ทำให้การเทขายของนักลงทุนจะไม่กดให้ราคาต่ำลงอย่างรุนแรงจนทำให้โครงสร้างของตลาดเสียไป แต่การเข้าซื้อสินทรัพย์แบบนี้จะกดให้อัตราผลตอบแทนของตราสารอยู่ในระดับต่ำ เป็นการเปลี่ยนผันตลาดให้นักลงทุนหันไปลงทุนกับสินทรัพย์ตัวอื่นทดแทนและทำให้ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างอื่นปรับตัวสูงขึ้น ผู้คนมีความมั่งคั่งมากขึ้นเพื่อนำไปใช้จ่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

จะเห็นได้ว่าทั้งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการ QE นี้ก็เพื่อส่งต่อมาตรการทางการเงินให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าและกลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะวัดผลได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การทำ QE ของหลายประเทศในช่วงหลังวิกฤตการเงินจะมีการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อประกอบด้วยเสมอ 



พื้นฐานต่าง ประสบการณ์เดียว: ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาต่างก็เคยใช้ QE มาแล้วทั้งนั้น

ด้วยกลไกการส่งผ่านสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้ QE กลายมาเป็นทางเลือกที่ประเทศหนึ่ง ๆ นำมาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อคาดหวังการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้นที่นำมาตรการนี้มาใช้ฉุดดึงเศรษฐกิจของประเทศขึ้นจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 แต่ยังมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่น ญี่ปุ่น และ ยุโรป ที่เคยนำมาตรการนี้มาใช้ด้วยเหมือนกัน


ขอยกกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันค่ะ

●   โควิด-19 2020 กับ Unlimited QE ของอเมริกา

2020 เป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และว่ากันว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในคราวนี้จะรุนแรงที่สุดนับย้อนไปจนถึงเมื่อครั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงหลังสงครามโลกเลยทีเดียว และนับจนถึงตอนนี้มีการคาดการณ์กันว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐปีนี้จะพุ่งสูงกว่า 15% ทีเดียว และนี่เป็นอีกครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐรวมถึงธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศนำ QE ออกมาใช้อีกครั้ง


23 มีนาคม 2020 หลังจากที่รัฐบาลกลางสหรัฐออกมาประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหญ่ ธนาคารกลางสหรัฐเองก็ออกมาประกาศกาเรข้าทำ QE เพื่อป้องกันการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไม่จำกัดจำนวน จากเดิมที่ตั้งวงเงินไว้ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและ MBS เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับตลาด แต่ความเสียหายที่แท้จริงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้จะเกิดขึ้นที่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) จากห่วงโซ่อุปทานช็อคและกำลังแรงงานที่ล้มป่วยจนทำให้การผลิตหยุดชะงัก ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2008 ที่สาเหตุของวิกฤตเกิดขึ้นในภาคการเงิน เราจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามว่าผลของมาตรการนี้จะช่วยเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ แต่ไม่ว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลของวิกฤตได้หรือไม่ก็แล้วแต่ ทว่าหลังจากการประกาศใช้ QE แบบไม่จำกัดจำนวนเช่นนี้เป็นผลทำให้ตลาดหุ้นหยุดการลงและรีบาวน์ขึ้นมาได้แทบจะในทันที


QE และผลลัพธ์ที่อาจไม่ได้คาดหวัง

QE เป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ปกตินัก เนื่องจากเป็นการบิดเบือนระบบการเงินปกติด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ด้วยความคาดหวังที่จะชะลอความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่มาตรการนี้ก็ยังคงมีข้อควรระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงที่อาจไม่ได้คาดหวังพ่วงมาด้วย

1. ค่าเงินอ่อนค่า การอัดฉีดเงินเข้าระบบทำให้ปริมาณเงินมากขึ้น ค่าเงินอ่อนลง ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบสูงขึ้น หากเป็นประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจะทำให้ราคาสินค้าทั่วไปแพงขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

2. เกิดการแสวงหาผลตอบแทนในการลงทุนจนอาจเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ทั่วโลก ด้วยสภาพคล่องจำนวนมากที่อัดฉีดเข้ามาในระบบทำให้เกิดการปล่อยกู้หรือลงทุนที่เสี่ยงสูงกว่าปกติ และด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เกิด searching for yeild ผลที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคือราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกจนน่าเป็นห่วงถึงเรื่อง Asset Bubble มีการรายงานที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ 

3. การเพิ่มปริมาณเงินในระบบอาจไม่ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริง การทำ QE นำไปสู่การปรับตัวของสินทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งไม่ได้การันตีว่าความมั่งคั่งจะตกถึงมือคนรากหญ้าที่เป็นกลุ่มที่มีการเก็บออมน้อยและใช้จ่ายสูง นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แม้ธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าระบบมาอย่างไร ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ช้ากว่าที่คาดไว้ 

4. ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างกว่าที่เคย การสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือสินทรัพย์และการสะสมความมั่งคั่งของผู้ที่มีทุนรอนอยู่แล้วให้ยิ่งสะสมทุนมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้อัตราความเหลื่อมล้ำในโลกแย่ลง ซึ่งจะไปถ่วงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและซ้ำเติมความยากลำบากในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป

รับมือ QE ระลอกใหม่ นักลงทุนควรเตรียมตัวอย่างไร?

การทำ QE เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากผ่านธนาคารพานิชย์ ซึ่งมักมีผลหลัก ๆ ทำให้เกิดการขยายสินเชื่อและลงทุนเพิ่มมากขึ้น และโดยไม่คาดหมาย อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำก็มักทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์อื่น เช่น ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และค่าเงิน

จากรูปตลาดหุ้นอเมริกากับการทำ QE เราพอจะคาดเดาได้ว่าการพร้อมใจทำ QE ของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศจะทำให้เม็ดเงินจำนวนหนึ่งไหลเข้าตลาดหุ้น แต่สภาพตลาดหุ้นในวันนี้แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน เนื่องจากคราวนี้มาตรการ QE ถูกนำมาใช้ค่อนข้างเร็ว และตลาดหุ้นรวมถึงภาคธุรกิจยังคงประเมินความเสียหายของเศรษฐกิจได้ไม่ครบ การเข้าลงทุนในตลาดหุ้นในตอนนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง และหาจังหวะในการเข้าให้เหมาะสม

 

15906580388124

สินทรัพย์อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือค่าเงิน เนื่องจากการอัดฉีดปริมาณเงินเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้เงินอ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ นักลงทุนสามารถรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้โดยการใช้เครื่องมือตราสารอนุพันธ์ เช่น CFD ในการขายสกุลเงินที่ทำ QE และมีแนวโน้มอ่อนค่า และ Long ค่าเงินที่มีความเสถียรกว่าเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน

ค่าเงินที่อ่อนค่ามีผลกับราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ (ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อทองเท่าเดิม) เป็นผลให้ราคาทองคำดีดตัวสูงขึ้นเช่นที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับเหตุการณ์นี้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งการซื้อทองคำแท่ง การซื้อกองทุน โดยเฉพาะการใช้ CFD ที่มีความคล่องตัวที่สุดในบรรดาเครื่องมือทั้งหมด

ส่งท้าย

การทำ QE ของธนาคารกลางเป็นมาตรการที่ไม่ปกตินัก และส่งผลกระทบกับระบบการเงินทั่วโลก คราวนี้เราก็ได้มาดูกันแล้วว่า QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร มีกลไกการทำงานอย่างไร และเราควรเตรียมรับมือกับ QE ระลอกใหม่ที่คาดว่าจะใหญ่กว่าเดิมนี้อย่างไร อนาคตของระบบการเงินท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 เป็นความท้าทายที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดเดาผลลัพธ์ไม่ออก แต่การได้รับข้อมูลที่รอบด้านจะทำให้นักลงทุนสามารถพาพอร์ตให้รอดไปได้ พร้อมทำกำไรแม้ในภาวะวิกฤต ที่แน่นอนว่าคราวนี้ก็ต้องมีโอกาสแฝงอยู่เช่นกัน


 


QE คือ    QE คืออะไร    Quantitative Easing    QE    เศรษฐกิจ    การเงิน    หุ้น   
อ้างอิง